ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 365
พลังงานทดแทน โดย น.พ. อธิคม ดำดี OSK102
ภูมิปัญญาคนไทย ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จากน้ำมันพืชใช้แล้ว
น้ำมันไบโอดีเซลที่ได้สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบจัดได้ ในอัตราส่วนเท่าใดก็ได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์แต่อย่างใด...น้ำมันที่ผลิตได้ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว โดยไม่ต้องมีส่วนผสมของน้ำมันปิโตรเลียมเลย ใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซลทุกชนิดโดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์
การใช้น้ำมันพืชเก่ากลับมาประกอบอาหารซ้ำมีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากในน้ำมันพืชใช้แล้วที่นำกลับมาใช้ซ้ำมีสารพิษก่อมะเร็ง (carcinogen) อยู่ 2 กลุ่ม คือ อนุมูลอิสระ (free radicals) และไดออกซิน จึงสมควรนำน้ำมันเก่าเหล่านั้นมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์เป็นพลังงานแทนการนำกลับไปใช้บริโภค และจากปัญหาราคาน้ำมันแพงในปัจจุบันทำให้ต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม
กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตทั้งหมดประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยภูมิปัญญาของคนไทยในชนบทที่ทุ่มเทชีวิตกับการศึกษาทดลองโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การลงทุนอุปกรณ์การผลิตราคาไม่สูงมาก สามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวได้ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหาได้และมีอยู่ทั่วไปในชุมชนทุกครัวเรือน ทำให้เรื่องของการผลิตพลังงานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของโลกในยุคปัจจุบันสามารถอยู่ในมือของประชาชนทั่วไปได้ ไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดโดยกลุ่มนายทุนใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
คนไทยในชนบทคนหนึ่งคือ นายอธิราษฎร์ ดำดี OSK101? เป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จากอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มีพื้นฐานการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมีประสบการณ์การทำงานในภาคอุตสาหกรรมมาตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน ได้รับแรงบันดาลใจจากสวนปาล์มที่อยู่หลังบ้าน น่าจะนำผลผลิตมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซลแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียมดีเซลได้ โดยเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าเรื่องน้ำมันไบโอดีเซลตั้งแต่ปี 2544 ได้ทดลองการผลิตในรูปแบบต่างๆ เพื่อหาความเหมาะสมทางด้านเทคโนโลยีและด้านเศรษฐกิจของน้ำมันไบโอดีเซล สำหรับประเทศไทยพบว่า น้ำมันไบโอดีเซลจะมีความเหมาะสมในการผลิตออกมาใช้งานก็ต่อเมื่อมีการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลแล้ว จึงได้เตรียมกระบวนการผลิตดังกล่าวไว้ และพบอีกว่าวัตถุดิบที่เหมาะสมในการนำมาผลิตคือ น้ำมันพืชใช้แล้ว เนื่องจากปริมาณน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ในประเทศกว่า 90% นำมาใช้บริโภคในประเทศ ดังน้ำมันพืชใช้แล้วในประเทศ หากมีการรวบรวมอย่างเป็นระบบก็จะมีปริมาณเพียงพอต่อการนำมาผลิตไบโอดีเซล เพื่อตอบสนองต่อครัวเรือน และชุมชนได้ โดยมี นายแพทย์อธิคม คำดี OSK102 ศัลยแพทย์ทางด้านโรคมะเร็ง จากศูนย์มะเร็งสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีความสนใจในเรื่องการเกิดโรคมะเร็งระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ที่มีสาเหตุมาจากการใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว มีสารพิษก่อมะเร็ง (carcinogen) อยู่ 2 กลุ่ม คือ อนุมูลอิสระ (free radicals) และไดออกซิน ให้การสนับสนุนและร่วมรณรงค์การเลิกใช้น้ำมันพืชใช้แล้วมาใช้ซ้ำในการประกอบอาหาร โดยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้กันเองภายในครอบครัว
บัดนี้ได้มีการติดตั้งเครื่องจักรและดำเนินการผลิตใช้เติมรถยนต์แทนน้ำมันดีเซลมากว่าสามเดือนตลอดระยะเวลาดังกล่าวได้ทำการศึกษาวิจัยแล้วไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ ต่อเครื่องยนต์และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ
กระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จากน้ำมันพืชใช้แล้ว
เริ่มต้นจากการเก็บรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้ว จากตลาดชุมชนต่างๆ
- นำมาพักให้ตกตะกอนและกรองเอาตะกอนออก ให้ความร้อนเพื่อให้น้ำแยกตัวออกจากน้ำมัน เพื่อให้น้ำมันที่นำไปผลิตมีน้ำและสิ่งสกปรกเจือปนให้น้อยที่สุด
- จากนั้นนำน้ำมันที่ได้มาผ่านกระบวนการกระตุ้นด้วยกรด และแอลกอฮอล์ เพื่อปรับสภาพน้ำมันให้มีคุณสมบัติคงที่แล้วพักไว้ 1 คืน
- จากนั้นนำมากระตุ้นด้วยแอลกอฮอล์ และด่าง ที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส พักทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง จะเกิดการแยกตัวเป็นน้ำมันไบโอดีเซลและกลีเซอรีน
- แยกเอาน้ำมันไบโอดีเซลไปผ่านกระบวนการล้างอย่างน้อย 3-4 ครั้ง โดยครั้งแรกต้องเป็นน้ำที่มีการเติมกรดอ่อน เพื่อปรับสภาพน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้ให้มีค่าความเป็นกลาง (pH=7)
- จากนั้นนำน้ำมันไปอุ่นเพื่อไล่น้ำออกจากน้ำมัน จะได้น้ำมันไบโอดีเซลที่ใส
- เมื่อนำไปใช้กับเครื่องยนต์ ต้องผ่านกระบวนการกรองอย่างดีอีกครั้ง (2-5 ไมครอน)
น้ำมันไบโอดีเซลที่ได้สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบจัดได้ ในอัตราส่วนเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่ องยนต์แต่อย่างใด
คุณสมบัติเด่นของน้ำมันไบโอดีเซล
มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ ทำให้เครื่องยนต์มีกำลังแรงขึ้นเพราะช่วยเผาไหม้ มีสารหล่อลื่นในตัวเอง ทำให้เครื่องยนต์สึกหรอน้อยลง มีคุณสมบัติในการทำความสะอาดเครื่องยนต์ ทำให้ห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาด นอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์ดีเซลแล้ว สามารถใช้เป็นน้ำมันซักแห้ง น้ำมันล้างเครื่อง ตัวทำละลาย ใช้ทำความสะอาดคราบเปื้อนจากสีน้ำมันได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอน ต้องทำอย่างประณีต ละเอียด รอบคอบ ระมัดระวัง มีความปลอดภัยในการใช้สารเคมีและการบำบัดน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตอย่างถูกวิธี ผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลที่ได้จึงมีคุณภาพที่ดี ไม่ก่อปัญหาให้กับเครื่องยนต์ในระยะยาว
ปัจจุบัน รัฐบาลมีโครงการขนาดใหญ่ ในการวางแผนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล วงเงินลงทุนนับเป็นแสนล้านบาท มีแผนการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มไปทั่วประเทศ มีแผนการตั้งบริษัทมหาชนขนาดใหญ่เพื่อผลิตไบโอดีเซล เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะมีนายทุน นักการเมืองใหญ่เข้ามาซื้อหุ้นเป็นเจ้าของผูกขาดการผลิตพลังงานเหมือน ปตท.
แต่เครื่องมือการผลิตไบโอดีเซล ที่ คุณอธิราษฎร์ ดำดี เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น เป็นเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลขนาดเล็ก ผลิตเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน สามารถผลิตได้วันละ 100-400 ลิตร สามารถรองรับปริมาณน้ำมันพืชเก่าใช้แล้วที่เก็บรวบรวมจากตลาดภายในจังหวัด
ปัจจุบัน น้ำมันเก่าที่ใช้แล้ว ได้มีพ่อค้ามาซื้อเก็บรวบรวมเพื่อนำไปใช้ใหม่ โดยถ้าเป็นน้ำมันจากบริษัทฟาสต์ฟู้ดต่างชาติ จะถูกนำไปจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดล่างทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านจนหมดสิ้น พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นจะนำไปใช้ประกอบอาหารจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั้งหลาย ส่วนน้ำมันใช้แล้วในตลาดล่างจะมีผู้มารับซื้อ เพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ สัตว์ได้กินสารก่อมะเร็ง และคนได้บริโภคเนื้อสัตว์อีกต่อหนึ่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยชาติประหยัดการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม และป้องกันการนำน้ำมันพืชเก่าใช้แล้วตกไปถึงผู้บริโภคอีกครั้ง จึงขอวิงวอนให้พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายได้โปรดขายน้ำมันเก่าใช้แล้วแก่โรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาดเล็กของคุณอธิราษฎร์ ดำดี ขณะนี้ คุณอธิราษฎร์ ดำดี และนายแพทย์อธิคม ดำดี ได้ขับรถกระบะโดยใช้น้ำมันไบโอดีเซล 100% ตระเวนรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากพ่อค้าแม่ค้าแถวพื้นที่ตลาดจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต
ผู้สนใจติดต่อ โทร. (075) 681-380 หรือแวะชมศึกษาดูงานได้ที่ บ้านเลขที่ 245 หมู่ 2 ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ 81110 (บ้านอาจารย์ดวล ดำดี)
ที่มา: http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000113525 และ www.krabi.go.th